พระคุณของพระจิต
สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเขียนไว้ใน พระสมณสาสน์เรื่องพระจิตเจ้า (18 พฤษภาคม 1986) ว่า
"พระจิตเจ้าทรงเป็นพระบุคคลในฐานะที่เป็นของประทาน หรือทรงเป็นพระบุคคลในฐานะที่เป็นความรัก"
ดังนั้นเราเข้าใจว่า ถ้าพระองค์เป็นความรักหมายถึงการให้ การอุทิศตนรับใช้ผู้อื่น และเราทราบว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นแบบฉบับที่ดีที่สุดของผู้ให้ พระองค์ประทานพระคุณ 7 ประการแก่มนุษย์ คือ พระดำริ สติปัญญา ความคิดอ่าน พละกำลัง ความรู้ ความศรัทธา และความยำเกรงพระเจ้า และพระจิตเจ้าก็ได้ประทานพระคุณเหล่านี้ให้แก่พระเยซูเจ้าอย่างสมบูรณ์ ดังที่เราเห็นในกิจการและพระวาจาของพระคริสตเจ้าอย่างชัดเจน พระจิตเจ้ายังประทานพระคุณเหล่านี้ ให้แก่เราเพื่อให้เราสามารถมีความรู้สึกและทำกิจการเช่นเดียวกับพระคริสตเจ้าได้

ขอให้เรามาพิจารณาพระคุณของพระจิตเจ้าแต่ละประการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เข้าใจให้ลึกซึ้งมากขึ้น

1. พระดำริ (หรือปรีชาญาณ)

คือพระคุณที่ทำให้เรารู้สึกในอรรถรสของพระเจ้าและสิ่งสร้าง ทั้งช่วยเราให้สามารถแยกแยะความดีจากความชั่ว เมื่อเรารับพระเจ้า เราสามารถสัมผัสความรักของพระเจ้า และเห็นคุณค่าของทุกสิ่ง ที่พระเจ้าทรงสร้างมา ในธรรมชาติ เช่น เราจะรู้สึกว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้ชิดเราเมื่อเราได้ยินเสียงใบไม้ไหว หรือเมื่อมองเห็นดาวกระพริบอยู่บนท้องฟ้าในเวลากลางคืน
สำหรับผู้ที่ได้รับปรีชาญาณ ชีวิตของตนแม้ต่ำต้อยหรือปกติที่สุดก็เป็นสิ่งน่าพิศวงเพราะรู้สึกว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาจากพระเจ้า ในสมัยกลาง อิสอัค นักบวชชาวอังกฤษคนหนึ่งเคยกล่าวว่า "โลกนี้เป็นประโยชน์สองประการสำหรับมนุษย์ คือเลี้ยงเราและสอนเรา" พระจิตเจ้าทรงจัดให้สิ่งของในโลก มีไว้ไม่เพียงแต่เป็นอาหารเลี้ยงท้อง แต่เป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณอีกด้วย ทุกสิ่งในโลกเป็นข่าวสารของพระเจ้าสำหรับเรา ผู้ที่ได้รับพระคุณแห่งปรีชาญาณนี้ สามารถรับสื่อเหล่านี้ และได้เรียนรู้ เช่น ดอกไม้ส่งกลิ่นนำความชื่นชมอย่างเงียบ ๆ, ตะวันขึ้นทุกวันแม้ไม่มีใครมาตั้งใจชม, กระแสน้ำที่ไหลเป็นนิจ, นกร้องเหมือนกับคนอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างง่าย ๆ ของการเรียนรู้
ปรีชาญาณยังช่วยเราให้สามารถแยกแยะความดีจากความชั่ว กษัตริย์ซาโลมอนได้รับปรีชาญาณเมื่อทรงอธิษฐานภาวนาว่า “ข้าแต่พระยาห์เวห์ ข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรถูก ขอพระองค์ประทานใจที่อ่อนน้อมว่านอนสอนง่าย เพื่อจะสามารถแยกแยะความดีจากความชั่ว”
ดังนั้น ปรีชาญาณเป็นพระคุณที่ส่องแสงในจิตใจมนุษย์ และช่วยอธิบายความหมายของชีวิต อังเดร ฟอร์ซารด์ นักเขียนชาวฝรั่งเศส ก่อนจะตายได้เขียนว่า "มนุษย์ได้อำนาจมากกว่าปรีชาญาณ ถ้าไม่กลับใจ ในไม่ช้าก็จะประพฤติเหมือนสัตว์" ถูกของเขา ทุกอย่างที่มนุษย์สมัยนี้ได้ประดิษฐ์ขึ้นมา ก็มีไว้เพื่อขยายสมรรถภาพ ฝ่ายกาย เช่น โทรทัศน์ขยายความสามารถในการมองของตา, รถยนต์ขยายความสามารถที่จะเดินของเท้า, โทรศัพท์ก็มีไว้เพื่อขยายความสามารถในการฟังของหู
แต่การขยายสมรรถภาพของร่างกายเช่นนี้ไม่ได้ส่วนกับการขยายสมรรถภาพของวิญญาณ มีแต่ปรีชาญาณเท่านั้นที่สามารถช่วยเราให้เห็น ให้ใช้สิ่งประดิษฐ์น่าทึ่งเหล่านี้อย่างถูกต้อง คือช่วยเราให้รู้จักใช้ทุกสิ่งเพื่อแสดงความรักที่มาจากพระเจ้าแก่ผู้อื่น ปล่อยให้ความรักของพระองค์ครอบครองจิตใจของเราและของมนุษย์

2. สติปัญญา

คือพระคุณที่ทำให้เราเข้าใจในความจริงที่ต้องเชื่อและต้อง ปฏิบัติตามเป็นพระคุณที่ช่วยเรามิให้เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา แต่แสวงหาความจริงของทุกสิ่งอย่างลึกซึ้ง ดังที่ท่านนักบุญเปาโลเขียนไว้ว่า "พระจิตเจ้าทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งสิ่งที่ลึกล้ำของพระเจ้า" (1คร. 2:10)
พระพรนี้ช่วยเราให้พ้นพฤติกรรมของคนทั่วไปนับตั้งแต่เด็กมา คือ สลวนสนใจเพียงเรื่องภายนอก เช่น ความสวยงาม การแต่งตัว ทรัพย์สมบัติ ความนิยมชมชอบ การได้หน้าได้ตา เกียรติยศชื่อเสียง พระพรนี้ช่วยให้เราพ้นจากโรคเหล่านี้ที่ขึ้นสมองของคนทั่วไป ทำให้เราเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นคุณค่าที่สูงกว่านั้นในทุกสิ่ง
พระคุณแห่งสติปัญญายังช่วยเราให้เข้าใจพระคัมภีร์ พระวาจาของพระเจ้าอย่างถูกต้องตามพระสัญญาของพระคริสตเจ้าที่ตรัสว่า "เมื่อพระจิตเจ้าแห่งความจริงจะเสด็จมา พระองค์จะนำทางท่านทั้งหลายไปสู่ความจริงทั้งหมด" (ยน. 16:13)
นอกจากนั้น สติปัญญาจะช่วยเราให้เข้าใจคำสอนของธรรมประเพณีที่มีชีวิตชีวาในพระศาสนจักร จะเห็นได้ว่าธรรมล้ำลึกต่าง ๆ เช่น เรื่องการเนรมิตสร้าง, การกอบกู้, การคืนชีพหลังความตาย, รวมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างงดงาม และรับแสงสว่างจากพระวาจาของพระเจ้าอยู่เสมอ พระคุณแห่งสติปัญญานี้เอง ปลุกความเชื่อในใจ ของเรา ทำให้เราทราบว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้า. "หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจก็ไม่มีผู้ใดสามารถกล่าวได้ว่า พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า" (1คร.12:3)

3. ความคิดอ่าน

คือพระคุณที่ทำให้เราตัดสินใจปฏิบัติตามแผนการของพระเจ้าคือช่วยเราให้ค้นพบหนทางชีวิตที่ถูกต้อง ให้รู้ว่าพระองค์ทรงต้องการอะไรจากเรา เพราะพระเจ้าทรงมีแผนการสำหรับมนุษย์แต่ละคน การค้นพบแผนการนี้เป็นเงื่อนไข เพื่อจะประสบความสำเร็จในชีวิต ความคิดอ่านช่วยเราให้แยกแยะ สิ่งที่ถาวรจากสิ่งที่ชั่วคราว ช่วยเราให้รอบคอบในการเลือกวิถีชีวิตโดยไม่ผิดพลาด เช่น จะตัดสินใจแต่งงาน, บวช หรือดำเนินชีวิตโสด ฯลฯ
พระพรนี้ยังช่วยเราให้เคารพอิสรภาพของผู้อื่นในการเลือกหนทางชีวิตขณะที่ช่วยเขาให้เลือกดำเนินชีวิตตามพระประส่งค์ของพระเจ้าในทุกกรณี ที่จริงมนุษย์มีความสามารถมากมาย แต่เราใช้สมรรถภาพนั้นน้อยเกินไป เพราะขาดการตัดสินใจแน่วแน่ เช่น เด็กอายุ 3 ขวบที่อยู่กับคน 10 คนในครอบครัว แต่ละคนพูดภาษาคนละภาษากับเด็ก เด็กคนนี้สามารถโต้ตอบกับทุกคนในภาษาต่าง ๆได้
นักจิตวิทยามีความเห็นพ้องต้องกันว่า มนุษย์เราพัฒนาความทรงจำความสามารถที่จะรัก และความสามารถที่จะสนใจในเรื่องอื่น ๆ น้อยเหลือเกิน พระพรแห่งความคิดอ่านช่วยเรามิให้ละทิ้งสมรรถภาพนี้ไว้ให้เปล่าประโยชน์

4. พละกำลัง

คือพระคุณที่ช่วยเราให้มีความกล้าหาญ ความมั่นคง และความ ซื่อสัตย์ในความเชื่อ สามารถต่อสู้กับศัตรูฝ่ายวิญญาณได้ หนังสือกิจการอัครสาวกแสดงชัดว่าเมื่อบรรดาอัครสาวกได้รับพระจิตเจ้าแล้วในวันเปนเตกอสเต ก็ได้รับพระจิตเจ้าแล้วในวันเปนเตกอสเต ก็ได้รับพละกำลังที่จะประกาศพระคริสตเจ้าอย่างกล้าหาญ และได้ดำเนินชีวิตเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าอย่างเปิดเผย หากมนุษย์ไม่มีความกล้าหาญหรือพลังภายในเช่นนี้เขาจะไม่กล้าประพฤติผิดแผกจากคนทั่ว ๆ ไป เขาจะเป็นคนขี้ขลาด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือช่วยคนอื่น เขาจะปรานีประนอมในทุกกรณี แตร์ตูเลียน ปิตาจารย์ในศตวรรษที่สาม เคยเปรียบเทียบพระจิตเจ้ากับโค้ชของนักกีฬาว่า โค้ชจะสอนนักกีฬาของตนว่า เขาจะต้องรู้จักออกแรงจนเหน็ดเหนื่อย เขาจะไม่สามารถได้เหรียญทองหากไม่มีเหงื่อออก ถ้าเขามุ่งมั่นเขาจะไม่รู้สึกเบื่อหน่ายจำเจในการฝึกฝน
ฉะนั้น พระคุณแห่งพละกำลังที่เรารับจากพระจิตเจ้าช่วยเราให้ปฏิบัติตามข้อความบนป้ายที่ติดไว้บนฝาผนังในบ้านของคุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตาที่ว่า "มนุษย์นั้นบ่อยครั้งทำอะไรไม่มีเหตุผล เห็นแก่ตัวช่างมัน…จงรักเขาเถิด, ถ้าท่านทำความดีผู้อื่นอาจคิดว่า ท่านหวังจะได้ประโยชน์ช่างมัน…จงทำความดีเถิด, ถ้าท่านประสบความสำเร็จ ท่านจะพบว่ามีทั้งมิตร เทียมและศัตรูแท้ ช่างมัน…พยายามทำให้สำเร็จ, ความดีที่ท่านทำวันนี้พรุ่งนี้ก็จะถูกลืม ช่างมัน…จงทำความดีเถิด, ความสุจริตและจริงใจจะทำให้ท่านถูกเอาเปรียบ ช่างมันจงเป็นผู้สุจริตและจริงใจเถิด, สิ่งที่ท่านได้สร้างขึ้นเป็นเวลานานอาจจะถูกทำลายในพริบตา ช่างมัน…จงสร้างขึ้นเถิด, ถ้าท่านช่วยคนอื่น เขาอาจจะไม่พอใจท่าน ช่างมัน…จงช่วยเขาเถิด, ถ้าท่านทุ่มเทตนเองอย่างดีที่สุดแก่ผู้อื่นเขาอาจจะเตะท่านทิ้ง ช่างมัน…จงทุ่มเทตัวเองอย่างดีที่สุดเถิด"

5. ความรู้

คือพระคุณที่ช่วยเราให้รู้จักพระเจ้าและทุกสิ่งที่เกี่ยวกับพระองค์ ความรู้นี้เป็นโลกทัศน์ที่มาจากการพบปะกับพระเจ้าผู้ทรงเปลี่ยนแปลงใจและชีวิตของมนุษย์ อาศัยพระพรนี้นักเทววิทยาสามารถอธิบายความจริงที่เราเชื่ออย่างเป็นระบบ และสามารถเข้าใจเครื่องหมายของกาลเวลา ที่แสดงพระประสงค์ของพระเจ้าให้แก่เรา ในทุกวันนี้ เป็นพระพรซึ่งผู้สอนคำสอนต้องรับเพื่อจะเป็นอาจารย์แห่งความเชื่อให้แก่ผู้อื่น พระพรนี้ทำให้เรารักพระเจ้าและทุกสิ่งมากยิ่งขึ้น
คอสตอเยสกี นักเขียนเรืองนามชาวรัสเซียคนหนึ่งคงจะได้รับพระคุณนี้เมื่อได้เตือนผู้อ่านว่า "พี่น้องทั้งหลาย จงรักสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างทั้งมวล ทั้งส่วนรามและทีละสิ่ง เหมือนเม็ดทรายทีละเม็ดจงรักใบไม้แต่ละใบ จงรักแสงแดด ต้นไม้ สัตว์ และทุกสิ่ง โดยเฉพาะจงรักเด็ก เพราะเขามีชีวิตเพื่อชำระจิตใจของท่าน และทำให้ท่านรู้สึกอ่อนโยน"

6. ความศรัทธา

คือพระคุณที่ทำให้จิตใจของเรายอมนมัสการพระเจ้า แสดง คารวะกิจพิเศษต่อพระองค์ ยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดา ทรงเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้าย ของพระพรทุกอย่าง ความศรัทธา คือความรู้สึกอ่อนโยนต่อพระเจ้า รักพระองค์เหนือสิ่งอื่นใด และปรารถนาที่จะถวายเกียรติแด่พระองค์ในทุกสิ่งที่เรากระทำ พระเมตตาที่พระองค์ทรงมีต่อเราใหญ่ยิ่ง ทรงมีพระประสงค์ให้เราตอบสนองความรักต่อพระองค์ ผู้มีความศรัทธาไม่เพียงแต่แสวงหาความบรรเทาใจจากพระเจ้า ยังปรารถนาที่จะร่วมสุขร่วมทุกข์กับพระองค์อีกด้วย
ความศรัทธาช่วยเราให้ทนความทุกข์ยากลำบากเช่นเมื่อบีโทเฟน นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่มีอายุ 46 ปี เกิดหูหนวกสนิท เขารู้สึกสิ้นหวัง แต่อาศัยความศรัทธาที่เขายังมีต่อพระเจ้า เขายังพบพละกำลังที่จะเอาชนะความผิดหวังได้ เขาเขียนดนตรีอมตะชิ้นหนึ่งที่เรียกว่ามิสซาสง่า โดยใช้เวลาสองปีในการเขียนงานชิ้นนี้ หลังโน้ตตัวสุดท้ายเขาเขียนว่า "พระเจ้าทรงเป็นป้อมปราการอันมั่นคงของข้าพเจ้า"
เมื่อเราเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเรา เราไว้วางใจพระองค์เหมือนกับลูกรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมแขนของพ่อของตน ดังการ์โล คาเรตโต เขียนไว้ว่า "ถ้าพระเจ้าเป็นพระบิดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีที่แท้จริงในพระองค์ ถ้าพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ถามพระองค์ว่า ทำไม…? ทำไม…? แต่จะบอกเพียงว่า พระองค์ทรงทราบ ถ้าพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่คิดว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นเครื่องหมายแสดงความรักของพระองค์ ถ้าพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่หมดความเชื่อ เมื่อเผชิญหน้ากับ ภัยธรรมชาติ คือ เมื่อไม่สามารถเห็นความสัมพันธ์ระหว่างความรักของพระเจ้า และความทุกข์ยากลำบากที่ข้าพเจ้ากำลังประสบอยู่ พระเจ้าทรงเป็นเจ้านายของจักรวาล แม้แผ่นดินสะเทือนและแม่น้ำจะไหลท่วม พระองค์ทรงเป็นพระบิดา แม้ความหนาวจะทำให้มือแข็งหรือหรืออุบัติเหตุจะทำให้พิการตลอดชีวิต" นี่คือตัวอย่างของพลังอำนาจของพระคุณความศรัทธา

7. ความยำเกรง

คือพระคุณที่ช่วยให้เรามีจิตสำนึกในความยิ่งใหญ่และศักดิ์ศรี สูงส่งของพระเจ้า พระเจ้าทรงพระทัยดี และทรงเป็นพระบิดา ทั้งยังทรงพละกำลัง ทรงพลานุภาพ เราจึงต้องเคารพและนอบน้อม เชื่อฟังพระองค์ ดำเนินชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระองค์, สลวนที่จะทำให้พระองค์พอพระทัยมากกว่าทำให้มนุษย์พอใจ นักบุญเปาโลเตือนเราว่า "อย่าหลอกลวงตนเอง เราจะเยาะเย้ยพระเจ้าไม่ได้" (กท. 6:7)
ผู้ที่ไม่เคารพพระเจ้าก็จะไม่เคารพมนุษย์อีกด้วย ดังที่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้พิสูจน์แล้ว ความยำเกรงพระเจ้า ยังสอนเราว่า เราไม่สามารถทำตามใจชอบ เราไม่ใช่เจ้าของความดีและความชั่ว เราไม่สามารถทำให้ความอธรรมกลับเป็นความชอบธรรม ทำให้สิ่งที่ผิดกลับเป็นสิ่งที่ถูก ทุกครั้งที่เราไม่เคารพสิ่งที่มีค่าในชีวิต ก็เท่ากับว่าเราไม่เคารพพระเจ้าผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดของคุณค่าเหล่านั้น
ความยำเกรงพระเจ้าทำให้เรารู้ว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้พิพากษาทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์ไม่ทรงใช้มาตราการของมนุษย์ที่มักจะตัดสินว่า ผู้มีอำนาจและผู้ประสบความสำเร็จเท่านั้นมีคุณค่า แต่พระองค์ทรงรักเราอย่างที่เราเป็น และทรงช่วยเราให้พ้นจากสิ่งที่จะทำลายเรา เพื่อจะได้สิ่งที่ดีจริง สำหรับเรา ความยำเกรงพระเจ้าจึงเป็นความรักเยี่ยงลูก ซึ่งเกรงจะทำเคืองพระทัยพระบิดา

คุณพ่อไกส์  (สู่ปี2000 ฉบับที่ 9)


สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซูได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 7 ขวบ ท่านได้บันทึกความรู้สึกในวันนั้นว่า "ภาพของทะเลนั้นประทับใจดิฉันมากเหลือเกิน ดิฉันไม่อยากละสายตาไปจากภาพนี้เลย พลังของน้ำในทะเลกว้าง และเสียงของคลื่นที่ซัดฝั่งกระทบใจดิฉันให้มองเห็นความยิ่งใหญ่และพลานุภาพของพระเจ้า"
ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นในธรรมชาติ อาจเป็นเครื่องหมายของสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งมองเห็นไม่ได้ สำหรับผู้ที่มีความเชื่อ สิ่งสร้างทั้งหลายมีอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับพระเจ้าผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีของสิ่งสร้างสะท้อนให้เห็นคุณลักษณะบางอย่างในพระเจ้าแม้ยังไม่สมบูรณ์และมีขอบเขตจำกัด แต่ภาษาเปรียบเทียบเช่นนี้เป็นวิธีเดียวที่มนุษย์มีใช้เพื่อเข้าใจพระเจ้าและกล่าวถึงพระองค์
สัญลักษณ์ คือสิ่งซึ่งตัวของมันเองเสนอแนะหรือให้ความหมายโยงใยถึงอีกสิ่งหนึ่ง เช่น นกพิราบ นอกจากเป็นนกชนิดหนึ่งแล้ว ก็ยังเสนอความหมายสากลถึงสันติภาพ ในพระคัมภีร์เราพบสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าหลายประการ ผู้เขียนพระคัมภีร์คิดสัญลักษณ์ขึ้นมาเฉพาะตัว โดยแนะจินตนาการให้ผู้อ่านได้แลเห็นและมีความรู้สึกร่วมจนสามารถตีความให้เข้าใจความหมายได้ พระคัมภีร์ใช้สัญลักษณ์ 9 อย่างเพื่อกล่าวถึงพระจิตเจ้า คือ ลม น้ำ ไฟ ก้อนเมฆที่ส่องสว่าง การเจิม ตราประทับ มือ นิ้ว และนกพิราบ

1. ลม หรือลมหายใจ

พระนาม พระจิตเจ้า เป็นเพียงคำแปลไม่ใช่พระนามเฉพาะของพระ องค์ที่ชาวยิวใช้ พระนามพระองค์ในภาษาฮีบรูเรียกว่า รวกฮ์ ซึ่งหมายถึงลมหรือลมหายใจ เป็นการยากสำหรับเราที่จะเข้าใจว่า คนสมัยก่อนเมื่ออ่านพระคัมภีร์ ในภาษาฮิบรู, กรีก หรือลาติน ทุกครั้งที่ฉบับแปลภาษาไทยมีคำว่าลม เขาก็คิดถึงพระจิตเจ้าด้วย และทุกครั้งที่เราอ่านคำว่า พระจิตเจ้า เขาก็คิดถึงลมด้วย เพราะคำว่า รวกฮ์ ชวนให้ระลึกถึงประสบการณ์ที่เขาสัมผัสกับพระจิตเจ้า ในหนังสือกิจการอัครสาวก เล่าเรื่องการเสด็จมาของพระจิตเจ้าในวันเปนเตกอสเต โดยใช้ลมพาย ุ แรงกล้า เป็นเครื่องหมาย “ทันใดนั้นก็มีเสียงจากฟ้าเหมือนเสียงลมพัดแรงกล้า ทุกคนในบ้านได้ยิน” (กจ. 2:2) และในพระวรสารตามคำเล่าของนักบุญยอห์น พระเยซูเจ้าผู้ทรงคืนพระชนม์ชีพ ทรงมอบพระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้แก่บรรดาอัครสาวกโดยใช้การระบายลมหายใจเป็นเครื่องหมาย “พระองค์ ทรงเป่าลมเหนือ พวกเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด” (ยน. 20:22) นักบุญยอห์นยังใช้ภาพของลมแรงเพื่ออธิบายถึงบทบาทของพระจิตเจ้า เมื่อบันทึกพระวาจาของ พระคริสตเจ้าที่ว่า “ลมย่อมพัดไปในที่ที่ลมต้องการ ท่านได้ยินเสียงลมพัด แต่ไม่ทราบว่าลมพัดมาจากไหน และจะพัดไปไหน ทุกคนที่เกิดจากพระจิตเจ้าก็เป็นเช่นนี้” (ยน. 3:8) ภาพของลมแรงหรือพายุช่วยอธิบายพระอานุภาพอันสูงส่งและเสรีภาพของพระจิตเจ้าผู้อยู่เหนือมนุษย์ เพราะลมแสดงพลังที่ไม่มีอะไรต่อต้านหรือควบคุมได้ ทั้งหนังสือธรรมชาติและหนังสือพระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าลมสามารถ “พัดพังภูเขาและทำให้หินแตกเป็นก้อน ๆ” (1 พกษ. 19:11) สามารถ “ทำให้คลื่นทำเลชัดขึ้นไปสู่ท้องฟ้าและลงไปสู่ที่ลึก (เทียบ สดด. 107:25 – 26 ) ไม่มีอะไรสามารถเขย่าให้มหาสมุทรเคลื่อนไหว ได้นอกจากลมเท่านั้น
พระจิตเจ้าทรงเป็นพละกำลังที่แท้จริง ทรงเป็นอำนาจเดียวที่สามารถค้ำจุนช่วยเหลือพระศาสนจักรและผู้มีความเชื่อแต่ละคน เพราะไม่ว่าส่วนตัวหรือส่วนรวม เราทุกคนไม่สามารถมีชีวิตด้วยพลังของตนเอง ดังที่ประกาศกเศคาริยาห์กล่าวแก่เศรุบบาเบล หัวหน้าชาวยิวว่า “มิใช่ด้วยกำลังมิใช่ด้วยฤทธานุภาพ แต่เดชะพระจิตของเรา พระเจ้าจอมโยธาตรัสดังนี้แหละ…ภูเขาใหญ่เอ๋ย เจ้าเป็นอะไรเล่า ต่อหน้าเศรุบบาเบล เจ้าจะเป็นที่ราบ” (ศคย. 4:6 – 7 )
เมื่อปิตาจารย์แตร์ตูเลียนกล่าวถึงคริสตชนที่ถูกลงโทษให้ต่อสู้กับสัตว์ร้ายในสนามกีฬาเพื่อความเพลิดเพลินของชาวโรมัน เขาเปรียบเทียบบทบาท ของพระจิตเจ้ากับบทบาทของโค้ชนักกีฬา จึงเรียกพระจิตเจ้าว่าเป็นโค้ชของมรณสักขี เพราะเป็นพระจิตเจ้านี่เองที่ประทานความกล้าหาญแก่มรณสักขี ตามธรรมชาติแล้ว คนที่ขี้ขลาดจะให้ความกล้าหาญแก่ตนเองไม่ได้ แต่ในชีวิตเหนือธรรมชาตินั้นเป็นไปได้ ผู้ที่ขาดความกล้าหาญก็สามารถรับความกล้าหาญ จากพระจิตเจ้าเพราะ “พระจิตเจ้าเสด็จมาช่วยเหลือเราผู้อ่อนแอ” (รม. 8:26) ความอ่อนแออาจจะเป็นโอกาศพิเศษที่เราจะประสบพระพลานุภาพของพระจิตเจ้า
ส่วนภาพของลมหายใจ หรือลมเบา ๆ ช่วยอธิบายถึงน้ำพระทัยดี ความรักอ่อนโยนความสงบนิ่งของพระจิตเจ้าผู้สถิตอยู่ในใจมนุษย์ ลมหายใจเป็นสิ่งที่อยู่ภายในมนุษย์ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต เป็นสิ่งที่เป็นของส่วนตัวมากที่สุด
ในภาษาฮิบรูและภาษาเซมิติคอื่น ๆ เช่น ภาษาซีเรียโบราณคำว่า รวกฮ์ เป็นศัพท์ที่มีเพศหญิง ผู้พูดภาษาเหล่านี้ก็รู้สึกว่าพระจิตเจ้าทรงมีลักษณะเหมือนกับแม่ คือมีบุคลิกภาพที่อ่อนโยนและอ่อนหวาน ในสมัยก่อนสตรีไม่มีสิทธิในสังคมเท่าเทียมผู้ชาย ไม่ว่าจะในด้านการเมือง การศึกษา ศิลป ปรัชญา ฯลฯ นอกจากภายในครอบครัว แต่ในทุกสมัยทั้งชายและหญิงมีสิทธิเท่ากันที่จะเป็นคนศักดิ์สิทธิ์เพราะพระจิตเจ้าประทานความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้ที่อ่อนน้อมต่อพระองค์ โดยเคารพต่อบุคลิกภาพของแต่ละคน พระจิตเจ้า มักจะแสดงธรรมล้ำลึกแห่งความรัก อ่อนโยน การดูแลเอาใจใส่ในนักบุญที่เป็นหญิง

2. น้ำ

ในพระวรสารตามคำเล่าของนักบุญยอห์นเราอ่านพระวาจาของพระ เยซูเจ้าพร้อมกับคำอธิบายของผู้เขียนว่า “ผู้ใดกระหายจงมาหาเราเถิด ผู้ที่เชื่อในเรา จงดื่มเถิด ตามที่พระคัมภีร์กล่าวว่า ‘ลำธารน้ำที่ให้ชีวิตจะไหลออกมาจากภายในผู้นั้น’ พระเยซูเจ้าตรัสดังนี้หมายถึงพระจิตเจ้า ซึ่งผู้ที่เชื่อในพระองค์จะได้รับ” (ยน. 7:37 – 39) น้ำเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ถ้าน้ำเป็นสัญลักษณืของพระจิตเจ้าก็หมายความว่า พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้บันดาลชีวิต “พระจิตเจ้าเป็นผู้ประทานชีวิตลำพังมนุษย์ทำอะไรไม่ได้ วาจาที่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายนั้นให้ชีวิต เพราะมาจากพระจิตเจ้า” (ยน. 6:63) ชีวิติที่พระจิตเจ้าประทานนั้นเป็นชีวิตเหนือธรรมชาติที่เรารับอาศัยพระวาจาของพระเจ้าและศีลศักดิ์สิทธิ์ เราสามารถเลือกชีวิตใหม่นี้ได้โดยอิสระ ไม่เหมือนชีวิต ธรรมชาติที่เราไม่สามารถตัดสินใจที่จะรับหรือไม่รับและเราเลือกชีวิตใหม่นี้ได้ อาศัยความเชื่อดังที่นักบุญเปาโลเขียนถึงคริสตชนชาวเธสะโลนิกาว่า เขา “จะรับความรอดพ้นอาศัยความเชื่อในความจริง และด้วยเดชะพระจิตเจ้า ผู้ทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์” (ธส. 2:13) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์หมายถึงกิจการของพระจิตเจ้าในศีลล้างบาปทำนองเดียวกันสภาพการณ์ปฏิสนธิในครรภ์ครั้งแรกของเราดำเนินไปในน้ำฉันใด น้ำแห่งศีลล้างบาปก็มีความหมายอย่างแท้จริงว่า เราได้รับการเกิดสู่ชีวิตพระซึ่งเป็นของประทานจากพระจิตเจ้า การใช้น้ำในศีลล้างบาปยังหมายถึง การชำระล้างมนุษย์จากบาปอีกด้วย ดังที่นักบุญเปาโลเขียนว่า “เดชะพระจิตเจ้าองค์เดียวเราทุกคนจึงได้รับการล้าง มารวมเข้าเป็นร่างกายเดียวกันำไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่ว่าจะเป็นทาสหรือไทยก็ตามและเราทุกคนต่างได้รับพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน” (1 คร.12 – 13)

3. ไฟ

เราไม่ต้องรู้สึกแปลกใจที่ไฟ ซึ่งตรงกันข้ามกับน้ำ ก็ยังเป็น สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าด้วย พระเยซูเจ้าก็เช่นกันได้รับการขานพระนามว่า "สิงโตแห่งยูดาห์" และ "ลูกแกะของพระเจ้า" ภาพเปรียบเทียบตรงกันข้ามเหล่านี้ ต่างเสนอลักษณะบางอย่างของพระจิตเจ้า ถ้าน้ำเป็นสัญลักษณ์ว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้บันดาลชีวิต ไฟบอกเราว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ชำระเราให้บริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์เต็มเปี่ยม น้ำชำระล้างก็จริง แต่บางอย่างไม่สามารถใช้น้ำ ต้องใช้ไฟเท่านั้น “ท่านจงชื่นชมยินดี แม้ว่าในเวลานี้ท่านจะต้องทนทุกข์จากการถูกทดสอบต่าง ๆ ชั่วขณะหนึ่ง เพื่อคุณค่าที่แท้จริงแห่งความเชื่อของท่านจะได้รับการสรรเสริญ รับสิริรุ่งโรจน์ และรับเกียรติเมื่อพระเยซูคริสตเจ้าจะทรงสำแดงพระองค์ ความเชื่อนี้ประเสริฐยิ่งกว่าทองคำอันเสื่อมสลายได้ แต่ก็ยังถูกทดสอบด้วยไฟ” (1 ปต. 1:6-7]
พระจิตเจ้าทรงช่วยชำระบาปไปจากจิตใจเรา ตามกระบวนการดังต่อไปนี้ คือ ทรงเคาะประตูมโนธรรมของเราให้สำนึกผิด ทรงช่วยเราให้เป็นทุกข์กลับใจ ทรงชวนเราให้สารภาพบาป ทรงอภัยบาปทำให้เราเป็นอิสระประทานความศักดิ์สิทธิ์แก่เราเสียใหม่ และในที่สุดทรงให้เราเร่าร้อนด้วยความรักต่อพระเจ้า ดังนั้น ในขณะที่น้ำหมายถึงการเกิดและความอุดมสมบูรณ์แห่งชีวิตที่ได้รับการประทานมาจากพระจิตเจ้า ไฟก็เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังการเปลี่ยนแปลง ที่มีอยู่ในกิจการของพระจิตเจ้า พระเยซูเจ้าตรัสว่า "เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ" (ลก. 12:49) ในวันเปนเตกอสเตบรรดาสาวกได้เห็น "เปลวไฟ ลักษณะเหมือนลิ้นแยกไปอยู่เหนือศีรษะของเขาแต่ละคน ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม" (กจ. 2:3-4) นักบุญเปาโลจึงเตือนคริสตชนว่า "อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า" (1ธส. 5:9)

4. ก้อนเมฆที่ส่องแสงสว่าง

ในหนังสืออพยพก้อนเมฆที่ส่องสว่างให้ชาวอิสราแอลเดินทางไปได้ ในเวลากลางคืนเป็นสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าผู้ทรงนำเขา ไปสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา พันธสัญญาเดิมยังกล่าวว่า "โมเสสขึ้นบนภูเขา แล้วเมฆก็มาปกคลุมภูเขาไว้ พระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์ลงมาอยู่บนภูเขาซีนาย" (อพย. 24:15 –16) เมฆยังลงมาในกระโจมนัดพบในถิ่นทุรกันดาล และในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม เมื่อกษัติย์ซาโลมอนทำพิธีอภิเษกพระจิตเจ้าเสด็จลงมา เหนือพระนางพรหมจารีมารีย์เหมือนเมฆมาแผ่เงาปกคลุมนาง (เทียบ ลก.1:35) บนภูเขาทาบอร์ที่พระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ เป็นพระจิตเจ้าที่เสด็จมาในก้อนเมฆที่ปกคลุมพระเยซูเจ้า โมเสส และประกาศกดเอลียาห์ สุดท้ายเมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จของสวรรค์ต่อหน้าบรรดาอัครสาวก เมฆก้อนเดียวกันนี้เองที่บังพระองค์ไปจากสายตาของเขา (เทียบ กจ. 1:9) ก้อนเมฆที่ส่องแสงสว่างจึงเป็นสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าผู้นำทางเราไปสู่พระคริสตเจ้า

5. การเจิม

การเจิมด้วยน้ำมัน เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระจิตเจ้า ทั้งในศีลล้าง บาปและในศีลกำลัง เพราะพระองค์ทรงบันดาลให้เราเป็นเหมือนพระคริสตเจ้า ผู้ได้รับเจิมจากพระจิตเจ้าให้เป็นกษัตริย์ สมณะ และประกาศก น้ำมันที่ใช้ในการเจิมนี้เป็นน้ำมันหอม แสดง ว่าพระจิตเจ้าบันดาลให้ความศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้า มาสู่พระศาสนจักร เหมือนดังกลิ่นของน้ำหอมที่กำจายไปทั่วห้องเมื่อเปิดขวด
การเจิมด้วยน้ำมันนี้ ยังหมายความว่าพระจิตเจ้าทรงบันดาลความเลื่อมใสศรัทธาแก่ดวงใจของเรา ซึ่งเป็นดังความรู้สึกอ่อนหวานถึงความรักพระเจ้า หรือความรู้สึกมีกำลังใจในการระลึกถึงพระพรต่าง ๆ ที่พระองค์ประทานให้ ในทำนองเดียวกัน การเจิมนี้ยังแสดงว่าเราได้รับพละกำลัง และอำนาจที่จะปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ของตน ตามแบบฉบับของพระคริสตเจ้า

6. ตราประทับ

ตราประทับ เป็นสัญลักษณ์ของการรับรอง เช่น พระเยซูเจ้าตรัสว่า "พระเจ้าพระบิดาทรงประทับตรารับรองบุตรแห่งมนุษย์ไว้แล้ว" (ยน. 6:27) ตราประทับเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายใกล้เคียงกับการเจิม เป็นการตอกย้ำผลของการเจิมของพระจิตเจ้าที่ลบออกไม่ได้ เช่น ในศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวช

7. มือ พระเยซูเจ้าทรงปกพระหัตถ์รักษาผู้ป่วย หรือประทานพรแก่เด็ก ๆ บรรดาอัครสาวกก็กระทำเช่นเดียวกันในพระนามของพระองค์ นอกจากนั้นเขายังปกมือแก่ ผู้ที่จะรับพระจิตเจ้า ผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรูยอมรับว่าคำสอนเรื่องการปกมือเป็นสิ่งสำคัญ (เทียบ ฮบ. 6:2) พระศาสนจักรยังรักษาเครื่องหมายการปกมือนี้ ไว้ในการภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้าในมิสซา เพื่อพระองค์จะได้ทรงเปลี่ยนขนมปังเป็นพระวรกายของพระคริสตเจ้า มือจึงเป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จมาของพระจิตเจ้า

8. นิ้ว

ในพระคัมภีร์เราพบสำนวนที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ว่า “ถ้าเราขับไล่ปีศาจ ด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า ก็หมายความว่า พระอาณาจักร ของพระเจ้ามาถึงท่านแล้ว" (ลก. 11:20) สำนวนเช่นเดียวกันนี้เรายังพบในพันธสัญญาเดิมเมื่อกล่าวถึงตอนที่โมเสสรับแผ่นศิลาพันธสัญญาจากพระเจ้าว่า "แล้วพระองค์ประทานแผ่นศิลาจารึก สองแผ่นให้เขา เป็นแผ่นศิลาที่ทรงจารึกด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์"(อพย. 31:18) ไมเคิล อันเจโล เมื่อวาดภาพพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ในโบสถ์ซิกข์ตินนั้น เขาวาดเป็นรูปพระบิดาทรงกำลังยื่นพระหัตถ์ จนพระดรรชนีของพระองค์เกือบแตะนิ้วมือของอาดัมที่กำลังนอนแหงนมองพระเจ้าอยู่บนพื้นดิน
ชีวิตที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์นั้นมาจากการสัมผัสของนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์

9. นกพิราบ

ในเรื่องน้ำวินาศ นกพิราบซึ่งโนอาห์ปล่อยไป ได้บินกลับมาพร้อมกิ่ง มะกอกสดคาบอยู่ในปากนั้น เป็นสัญลักษณ์ว่าแผ่นดินอยู่ในสภาพที่พำนักอาศัยได้แล้ว จึงเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ (เทียบ ปฐก. 8:8-12) เมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จขึ้นจากน้ำที่หลังจากทรงรับพิธีล้างแล้วนั้น “พระองค์ทรงเห็นพระจิตเจ้าลงมาเหนือพระองค์ดุจนกพิราบ” (มธ. 3:16) พระจิตเจ้า ยังประทับอยู่ในหัวใจที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้วของผู้รับศีลล้างบาป
พระจิตเจ้าทรงช่วยเราให้ดำเนินชีวิตตามหนทางที่นำไปสู่สันติภาพ (เทียบ ลก. 1:79) ในโลกนี้เราอาจจะมีประสบการณ์ของสันติสุขที่เรารอคอย จะได้รับในสวรรค์อยู่บ้าง นักบุญเทเรซาแห่งอาวิลลาเล่าว่า วันเปนเตกอสเตวันหนึ่ง เธอได้เข้าฌานขณะที่อธิษฐานภาวนา เธอเห็นนกพิราบตัวหนึ่งมาเกาะบนศีรษะของตน นกตัวนั้นมีปีกที่ส่องแสงสุกใส เธอไม่รู้สึกตกใจเลย ตรงกันข้ามกลับสงบและมีความผาสุขอย่างยิ่ง

พระเจ้าประทานสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าเหล่านี้แก่เรา แต่เราต้องมีตาที่จะมองเห็นได้คือต้องมีความเชื่อ น่าเสียดายที่น้อยคนพยายามแสวงหาเครื่องหมาย ของพระองค์นี้ เรื่องเล่าของชาวยิวต่อไปนี้คงจะเป็นอุทาหรณ์ได้ดี เขาเล่าว่า "เด็กคนหนึ่งเล่นซ่อนตัวอย่างดีและรอคอยให้เพื่อนมาหา เขาคอยแล้วคอยเล่า แต่ไม่มีใครมาหาจนกระทั่งเขาเหนื่อยและออกมาจากที่ซ่อน และพบว่าเพื่อนหลอกเขา ไม่ได้ตามหาเขา เขาจึงร้องไห้รีบกลับบ้านไปพบกับลุงบรุคซึ่งเป็นรับไบ แล้วเล่าเรื่องให้ลุงฟัง ลุงได้ฟังแล้วพลอยร้องไห้ไปกับเขาด้วย กล่าวว่า "พระเจ้าก็เช่นเดียวกับหลาน ทรงซ่อนพระองค์ และไม่มีใครสนใจพยายามตามหา เพื่อจะพบพระองค์"

คุณพ่อฟรังซีส ไกส์   (สู่ปี 2000 เล่มที่ 12)

บทภาวนาขอพระจิตเจ้า
ข้าแต่พระจิต พระผู้ประทานให้ลูกมองเห็น
และแสดงให้ลูกได้พบกับหนทางที่จะบรรลุถึงความปรารถนาของลูก
ผู้ประทานพระหรรษทานสำหรับการยกโทษ
และลืมความบกพร่องต่างๆ และเป็นแบบอย่างสำหรับชีวิตของลูก
ในบทภาวนาสั้นๆนี้
ลูกขอขอบพระคุณพระองค์ สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง
และลูกขอกล่าวย้ำอีกว่า ลูกไม่ต้องการที่จะแยกจากพระองค์
ไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าความปรารถนานี้
ลูกต้องการเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์
และความรักของลูกเพื่อพระองค์เท่านั้น อาแมน

ขอให้เผยแพร่บทภาวนานี้ต่อสาธารณชน เนื่องจากได้สวดบทภาวนานี้ แล้วพระประทานให้ได้รับประสบผลสำเร็จตามที่ได้ขอ
ลูกขอขอบคุณพระองค์

ขอขอบคุณ บทความจาก  สังฆมณฑลกรุงเทพ

  Send mail to [email protected] with question or comments about this web.
Copyright @ 2000 Data Computer's House.  2123-2125 Suebsiri Rd. Nai-muang,
Nakorn-Rachasima. 30000 Thailand.   Last